คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ การรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย มาโดยตลอด โดยมีการวางนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ จรรยาบรรณกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน และมีการทบทวนทุกปี ในปี 2565 คณะกรรมการบริษัทได้ทบทวนนโยบายต่างๆ ตามแนวทางจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของบริษัท เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทในอนาคต รวมถึงการทบทวนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่มีการปรับปรุง เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้
บริษัทได้มีการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายต่างๆ ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รับทราบยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์ภายในบริษัททุกประเภท เว็บไซต์ รวมถึงการจัดกิจกรรมด้านจริยธรรม และการอบรมปฐมนิเทศและหลักสูตรอื่นๆ และมีการติดตามการปฏิบัติผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายในและหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและความยั่งยืน คณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล และคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับนโยบาย แนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น การประเมินความเสี่ยง ติดตามตรวจสอบระบบการทำงานต่างๆ จนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต
ทั้งนี้ ผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ของบริษัทประจำปี 2565 อยู่ในระดับดีเลิศ หรือ 5 ดาว และยังได้รับคะแนนเต็มร้อยในการประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
แนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่บริษัทมุ่งเน้น มีดังต่อไปนี้
- กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมทางธุรกิจ จรรยาบรรณกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
- กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท รับผิดชอบ ระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับบริษัท และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
- ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการกำกับดูแลให้บริษัท มีระบบการบริหารจัดการที่ดี กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กลยุทธ์ นโยบายการดำเนินงาน การจัดสรรทรัพยากร พร้อมทั้งติดตาม ประเมินผล ตลอดจนดูแลการรายงานผลการดำเนินงาน และการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ
- ดำเนินการให้มีโครงสร้างการจัดการบริษัทที่ชัดเจน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยตามความเหมาะสม เพื่อช่วยกลั่นกรองงานอย่างรอบคอบ กำหนดขอบเขต อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละคณะ และฝ่ายจัดการ มีการแบ่งแยกหน้าที่ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างชัดเจน
- จัดให้มีระบบการควบคุมภายใน และจัดการบริหารความเสี่ยง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- พิจารณารายการที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบ และถือประโยชน์ของบริษัทเป็นสำคัญ
- ให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้ถือหุ้น และการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน มีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้นที่สะดวก
- ตระหนักถึงการสร้างคุณค่าแก่บริษัทอย่างยั่งยืน คำนึงถึงจริยธรรมทางธุรกิจ รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน นอกจากนี้ พิจารณาถึง สภาพแวดล้อม และการปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการลูกค้า
- คณะกรรมการบริษัทจะจัดให้มีการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัททั้งข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงินอย่างเพียงพอ ถูกต้อง และเชื่อถือได้
- ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การตระหนักในสิทธิมนุษยชน และการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
- สร้างค่านิยมปลูกฝัง คุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกอันดีงามด้านต่างๆ แก่พนักงาน สื่อสารให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน ปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร
นโยบายกำกับดูแลกิจการ ครอบคลุมหลักการสำคัญ 5 หมวด ดังนี้
- สิทธิของผู้ถือหุ้น
- การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
- การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
- การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงิน
- ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
ดาวน์โหลด นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
การดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย
บริษัทกำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่จะต้องรับทราบ ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณทางธุรกิจ จรรยาบรรณกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน อย่างเคร่งครัด มิใช่การปฏิบัติตามความสมัครใจ และไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่ทราบแนวปฏิบัติที่กำหนดขึ้นนี้ผู้บริหารทุกระดับในองค์กร จะต้องดูแลรับผิดชอบและถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินการให้พนักงานภายใต้สายบังคับบัญชาของตนทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างจริงจัง และทางบริษัทมีมาตรการการตรวจสอบและกำหนดบทลงโทษทางวินัยสำหรับดำเนินการกับพนักงานที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบาย
การรับและพิจารณาข้อร้องเรียน
บริษัทจัดช่องทางการรับเรื่องเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลของบริษัท (CG Hotline) ไว้สำหรับเปิดรับข้อร้องเรียน ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะ รวมถึงการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลในองค์กร (Whistle Blowing) ทั้งจากพนักงานเอง และผู้มีส่วนได้เสียอื่น เพื่อให้เป็นไปตามการปฏิบัติตามการดูแลกิจการที่ดี โดยช่องทางการรับเรื่องเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลของบริษัท มี 5 ช่องทาง ได้แก่
- โทรศัพท์
- โทรสาร
- เว็บไซต์ของบริษัท หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ที่ cghotline@mono.co.th
- ยื่นเรื่องโดยตรงที่เลขานุการบริษัท หรือทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ของบริษัท
- ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) โดยตรงถึงกรรมการอิสระ 3 ท่าน ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาลของบริษัท
และเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร้องเรียน และผู้แจ้งเบาะแส บริษัทให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลร้องเรียนเป็นความลับ และได้กำหนดขั้นตอนการรับเรื่องและการสอบสวนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจะรับรู้เพียงเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายและเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น และสำหรับผู้ร้องเรียนที่เป็นพนักงาน จะได้รับความคุ้มครอง มิให้ได้รับผลกระทบต่อสถานภาพการทำงาน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและลดการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานและบริหารงานของบริษัท อันจะทำให้สูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ เลขานุการบริษัท จะร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาลพิจารณาข้อร้องเรียนหรือคำถามเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานและการบริหารงานของบริษัท หรือเรื่องที่เป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย แล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการบริษัท โดยมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้
(ก) ข้อร้องเรียนหรือข้อมูลที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้น เกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัท หรือกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัท อันจะทำให้บริษัท เสียหายหรือสูญเสียประโยชน์ ที่พึงจะได้รับ
(ข) ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมาย หลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ที่บริษัทจะต้องปฏิบัติตาม
(ค) ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับนโยบายการดำเนินงานและนโยบายบัญชีและการเงินของบริษัทที่กำหนดไว้แล้ว
(ง) ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับรายการเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) หรือรายการเกี่ยวโยง (Connected Transaction) กับบริษัท ที่เข้าข่ายตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือตลาดหลักทรัพย์
(จ) ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับงบการเงินและข้อมูลทางการเงินของบริษัท
(ฉ) ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัท
(ช) ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ และเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชั่น
(ซ) ข้อร้องเรียนอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาลกำหนดเพิ่มเติม
การแจ้งเบาะแส หรือ ร้องเรียนการกระทำที่อาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเป็นการทุจริต
คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล เป็นผู้พิจารณารับเรื่องแจ้งเบาะแสข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นกับบริษัท โดยทางตรง หรือ ทางอ้อม โดยผ่านช่องทางการรับเรื่องที่ได้กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้
- โดยผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่จะแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน พร้อมชื่อที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และส่งมายังช่องทางรับเรื่อง ดังนี้
ก. แจ้งผ่านช่องทางอีเมล์ของคณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล ที่ audit_committee@mono.co.th
ข. แจ้งผ่านช่องทางอีเมล์ของเลขานุการบริษัท (คุณปิติฤดี ศิริสัมพันธ์) ที่ companysec@mono.co.th หรือ antifraud@mono.co.th หรือ ส่งผ่านไปรษณีย์ถึงเลขานุการบริษัทฯ บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 29/9 หมู่ที่ 4 ถนนชัยพฤกษ์ ตำบลบางพลับ
อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
ค. แจ้งผ่านช่องทาง เว็บไซต์ของบริษัท หัวข้อ “แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนทุจริต”
- บุคคลที่สามารถแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต คือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัท ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่แข่งทางการค้า เจ้าหนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแจ้งด้วยวิธีใดดังกล่าวข้างต้น ทางบริษัทฯ จะรักษาความลับของผู้แจ้งอย่างสูงสุด