5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

1. โครงสร้างของคณะกรรมการ

 (1) กำหนดให้คณะกรรมการบริษัท จัดกลุ่มได้ 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ 1 แบ่งตามการบริหารงาน แบ่งได้เป็น

•   กรรมการที่เป็นผู้บริหาร

•   กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร

ลักษณะที่ 2 แบ่งตามความเป็นอิสระ

•   กรรมการอิสระ

•   กรรมการไม่อิสระ

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการบริษัทมีจำนวน 8 คน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 2 คน (ผู้บริหาร หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร 4 รายแรกทุกราย นับต่อจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารลงมา) และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 2 คน มีกรรมการอิสระจำนวน 4 คน ซึ่งในจำนวนนี้ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาลจำนวน 3 คน สำหรับกรรมการบริษัทที่เป็นผู้บริหารจำนวน 2 คน ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารสำนักงาน โดยโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทมีสัดส่วนของกรรมการอิสระเท่ากับ 1 ใน 2 ของจำนวนกรรมการบริษัททั้งหมด ทำให้เกิดการถ่วงดุลในการออกเสียงในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ตลอดจนสอบทานการบริหารงานของฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท ทั้งนี้ จำนวนกรรมการอิสระของบริษัทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ที่ได้กำหนดไว้ให้มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

(2) ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีทุกครั้งให้กรรมการออกจากตำแหน่งเป็นอัตราจำนวนหนึ่งในสาม  ถ้าจำนวนกรรมการที่จะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับอัตราหนึ่งในสาม  กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรก และปีที่สองภายหลังการแปรสภาพนั้นให้จับสลากกัน ส่วนปีหลังๆ ต่อไปให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง  กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งใหม่อีกได้โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น

นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

1. ตาย

2. ลาออก

3. ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออก ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

5. ศาลมีคำสั่งให้ออก

(3) กรรมการอิสระจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์

(4) คณะกรรมการบริษัทต้องประกอบด้วยกรรมการอิสระไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน

(5) ประธานกรรมการจะมาจากการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

(6) สนับสนุนให้กรรมการมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน และทุ่มเทเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ให้บริษัทอย่างเพียงพอ

(7) กรรมการและผู้บริหารของบริษัท สามารถเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทในเครือหรือบริษัทอื่นได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้รับทราบด้วย ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสามารถดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทจดทะเบียนอื่น (ไม่รวมบริษัทและบริษัทย่อย) ได้ไม่เกิน 1 แห่ง โดยต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

(8) คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีเลขานุการบริษัท โดยมีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่คณะกรรมการจะต้องทราบ ดูแลการจัดการประชุมคณะกรรมการ เอกสารสำคัญต่างๆ และกิจกรรมของคณะกรรมการ รวมทั้งประสานงานให้มีการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการบริษัท ติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการเปิดเผยคุณสมบัติ ประสบการณ์ ของเลขานุการบริษัทในรายงานประจำปี และเว็บไซต์ของบริษัท

2. คณะอนุกรรมการ

(1) คณะกรรมการบริษัทสามารถจัดให้มีคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ เพื่อช่วยศึกษาและกลั่นกรองรายละเอียด และได้กำหนด คุณสมบัติ และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องไว้อย่างชัดเจน

•  กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล เพื่อช่วยคณะกรรมการในการสอบทานรายการทางการเงินของบริษัท ให้มีความถูกต้องและเปิดเผยอย่างเพียงพอ และสอบทานให้บริษัท มีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในที่มีความเหมาะสม และมีประสิทธิผล รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กำหนดในระเบียบหรือนโยบายของบริษัท ตลอดจนกฎและประกาศที่เกี่ยวข้อง

•  กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เพื่อพิจารณาสรรหาผู้ที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท และนำเสนอการพิจารณาต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ หรือนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ แล้วแต่กรณี รวมทั้งเพื่อพิจารณาผลตอบแทนของกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง สัญญาจ้างผู้บริหารระดับสูง และอัตราการขึ้นเงินเดือนโดยรวม เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้อนุมัติค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูง และอัตราการขึ้นเงินเดือนโดยรวม ส่วนค่าตอบแทนกรรมการนั้น  คณะกรรมการจะต้องนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติ

•  กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร เพื่อกำหนดนโยบายและตัดสินใจการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องต่างๆ ที่จะนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบ รวมทั้งตรวจสอบ ติดตามการดำเนินนโยบาย และแนวทางการบริหารงานด้านต่างๆ ของบริษัทให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารของบริษัทไม่เป็นบุคคลเดียวกัน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจโดยแยกหน้าที่การกำกับดูแลและการบริหารงานออกจากกัน ประธานกรรมการเป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยเป็นผู้นำของคณะกรรมการ และมีหน้าที่ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ และการประชุมผู้ถือหุ้น ส่วนประธานกรรมการบริหารเป็นหัวหน้าและผู้นำคณะผู้บริหารของบริษัทรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัท ในการบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุตามแผนงานที่วางไว้

•  กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและความยั่งยืน เพื่อพิจารณาความเสี่ยงและการพัฒนาด้านความยั่งยืนในการดำเนินงานของบริษัท

ทั้งนี้ โดยในแต่ละคณะอนุกรรมการจะมีการประชุมประเมินผลการดำเนินงานหรือทบทวนนโยบายต่าง ๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

(2) ประธานของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน จะต้องเป็นกรรมการอิสระ และสมาชิกของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนอย่างน้อย 1 คนจะต้องเป็นกรรมการอิสระด้วย

3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

การแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างการกำหนดนโยบายและการบริหารงานประจำ

คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแบ่งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการกำกับดูแล และการบริหารงานประจำวันออกจากกันอย่างชัดเจน ประธานกรรมการไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกันกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งประธานกรรมการมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำและมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเรื่องนโยบายของบริษัท อันเป็นผลมาจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท ที่ได้พิจารณาและกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจร่วมกับฝ่ายจัดการ เป็นผู้นำการประชุมคณะกรรมการบริษัทให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยสนับสนุนให้กรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุมและแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ทั้งนี้ ประธานกรรมการไม่ได้ร่วมบริหารงานปกติประจำวัน แต่ให้การสนับสนุนและคำแนะนำในการดำเนินธุรกิจของฝ่ายจัดการผ่านทางประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการบริษัทภายใต้กรอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

นอกจากนี้ ประธานกรรมการไม่เป็นประธานหรือสมาชิกในคณะกรรมการชุดย่อยหรือคณะอนุกรรมการ เพื่อให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อยมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

4. การประชุมคณะกรรมการบริษัท

(1) คณะกรรมการบริษัทจะกำหนดวันประชุมล่วงหน้าแต่ละปี อย่างน้อย 5 ครั้งต่อปี (ทุกๆ 3 เดือน) และกำหนดวาระประจำของแต่ละครั้งไว้ชัดเจน เช่น การพิจารณาอนุมัติงบการเงินที่ผ่านการสอบทานหรือตรวจสอบ โดยผู้สอบบัญชี เป็นต้น ส่วนระเบียบวาระที่นอกเหนือจากนี้ ประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการจะร่วมกันพิจารณาตามความสำคัญและจำเป็น ในกรณีที่บริษัทไม่ได้มีการประชุมทุกเดือน บริษัทจะจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอให้คณะกรรมการทราบทุกเดือน เพื่อให้คณะกรรมการสามารถกำกับควบคุมและดูแลการปฎิบัติงานของฝ่ายบริหารได้อย่างต่อเนื่อง

(2) จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำที่คณะกรรมการจะลงมติในที่ประชุม ต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

(3) คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ สามารถจัดประชุมเพื่อพิจารณาวาระตามอำนาจหน้าที่ที่คณะกรรมการมอบหมายให้ได้ โดยให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ติดต่อประสานงาน

(4) หนังสือเชิญ ประชุม รายละเอียดวาระและเอกสารประกอบ จะจัดส่งให้คณะกรรมการบริษัทล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน ยกเว้นเอกสารประกอบในวาระที่ไม่ประสงค์เปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรให้นำเรื่องอภิปรายกันในที่ประชุม และมีการจดบันทึกการประชุมซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วนชัดเจน จัดเก็บรักษารายงานการประชุมซึ่งผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริษัท พร้อมให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้

(5) กรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารสามารถจัดให้มีการประชุม โดยไม่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมด้วยได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยสามารถให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ประสานงานและควรแจ้งผลการประชุมให้กรรมการที่เป็นผู้บริหารทราบถึงผลการประชุม

(6) กรรมการบริษัทสามารถขอข้อมูลหรือสารสนเทศที่จำเป็นเพิ่มเติมได้โดยตรงจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเลขานุการบริษัท รวมถึงผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายในเรื่องนั้น กรณีจำเป็น คณะกรรมการอาจจัดให้มีความเห็นอิสระจากที่ปรึกษาหรือผู้ประกอบวิชาชีพภายนอก โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท

(7) ส่งเสริมให้กรรมการมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทเข้าสู่วาระการประชุม

(8) ในการประชุมทุกครั้งควรจัดให้มีผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้องและทันเวลา

5. การประเมินผลการปฏิบัติงาน

คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนให้มีการประเมินผลการปฎิบัติงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อปรับปรุงและแก้ไขการดำเนินงาน ทั้งนี้ เลขานุการบริษัทจะจัดส่งแบบประเมินให้กรรมการบริษัททุกท่าน โดยมีการกำหนดหัวข้อที่จะประเมินอย่างชัดเจน โดยมีประเมินกรรมการทั้งคณะ คณะกรรมการประเมินตนเอง ประเมินคณะกรรมการชุดย่อย ประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ในทุกสิ้นปี และรวบรวมสรุปรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท พิจารณารับทราบ และปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ แบ่งการประเมิน เป็นดังนี้

(1) การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการทั้งคณะ โดยนำแนวทางจากตลาดหลักทรัพย์มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับโครงสร้างของคณะกรรมการ ซึ่งจะนำไปใช้ในการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีหัวข้อในการประเมิน ดังต่อไปนี้

– โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
– บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
– การประชุมคณะกรรมการ
– การทำหน้าที่ของกรรมการ
– ความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร
– การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร

(2) การประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการรายบุคคล โดยให้กรรมการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง โดยกำหนดหัวข้อประเมินให้สอดคล้องกับหน้าที่ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ นโยบายกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณของกรรมการ โดยมีหัวข้อในการประเมิน ดังต่อไปนี้

– คุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ
– การกำหนดกลยุทธ์ กำกับดูแล และติดตามการดำเนินงาน
– บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการ
– การพัฒนาตนเองของกรรมการ

(3) การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดย่อย คณะกรรมการชุดย่อยมีการประเมินตนเองเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สามารถสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการบริษัท

(4) การประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับผิดชอบในการกำหนดเป้าหมายและบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นทุกสิ้นปี จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมถึงให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ประเมินตนเอง และเลขานุการบริษัทเป็นผู้สรุปรายงานผลการประเมินต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เพื่อนำผลประเมินมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีหัวข้อการประเมินตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

– ความเป็นผู้นำ
– การกำหนดกลยุทธ์
– การวางแผนและผลปฏิบัติทางการเงิน
– ความสัมพันธ์กับคณะกรรมการ
– ความสัมพันธ์กับภายนอก
– การบริหารงานและความสัมพันธ์กับบุคลากร
– การสืบทอดตำแหน่ง
– ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ
– คุณลักษณะส่วนตัว
– การพัฒนาตนเอง

6. ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร

(1) คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน พิจารณาโครงสร้างและอัตราค่าตอบแทนและผลการปฎิบัติงานของกรรมการ กรรมการที่เป็นผู้บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท และ/หรือผู้ถือหุ้นต่อไป โดยพิจารณาแต่ละรูปแบบให้มีความเหมาะสม ทั้งค่าตอบแทนในอัตราคงที่ และค่าตอบแทนตามผลดำเนินงานของบริษัท

(2) ค่าตอบแทนกรรมการพิจารณา ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวของบริษัท และเปรียบเทียบกับระดับค่าตอบแทนของอุตสาหกรรม รวมถึงพิจารณาตามประสบการณ์ ขอบเขต และหน้าที่ความรับผิดชอบที่กรรมการดำรงอยู่ในแต่ละคณะ เป็นอัตราที่แน่นอนและเหมาะสม

(3) คณะกรรมการกำกับดูแลให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินผลการปฏิบัติงาน อนุมัติโครงสร้างค่าตอบแทนที่จูงใจสำหรับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของธุรกิจ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีการสื่อสารเกณฑ์การประเมินเป็นการล่วงหน้า ติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณาจากการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ข้างต้น

(4)ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะพิจารณาค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงานของบริษัท เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยมีหลักเกณฑ์หรือแนวทางพิจารณาจากการดำเนินงานของบริษัท ผลการปฎิบัติงานของพนักงาน อายุงาน เป็นต้น และเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริษัท พิจารณาอนุมัติต่อไป

7. การพัฒนากรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน

(1) สนับสนุนให้กรรมการบริษัท ผู้บริหารและเลขานุการบริษัท เข้าร่วมการสัมมนา อบรมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ตลาดหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต. หรือหน่วยงานอื่นๆ จัดโครงการพัฒนาผู้บริหารประจำปี เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ประโยชน์หรือปรับปรุงการปฎิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อย่างน้อยกรรมการบริษัท จะต้องผ่านการอบรมและเข้าอบรมในหลักสูตรต่อเนื่องตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. กำหนด

(2) จัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ โดยนำเสนอเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ เช่น คู่มือกรรมการบริษัทจดทะเบียน แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 561 One Report) รายงานการประชุมคณะกรรมการ และการประชุมผู้ถือหุ้น นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ จรรยาบรรณกรรมการ รวมทั้งข้อมูลการดำเนินธุรกิจและการจัดการ ผลการดำเนินงาน และส่งเสริมให้กรรมการเข้ารับการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ และการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น

(3) กำกับดูแลให้มีแผนสืบทอดตำแหน่ง (succession plan) จัดให้มีการหมุนเปลี่ยนงานที่ได้รับมอบหมายตามความถนัดของผู้บริหารและพนักงาน โดยพิจารณาความเหมาะสมของงานและเวลาเป็นหลัก โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะกำหนดช่วงเวลาและพิจารณาผลการปฏิบัติงานดังกล่าว เพื่อเป็นแผนพัฒนาและสืบทอดงานของบริษัท อีกทั้งเป็นการพัฒนาผู้บริหารและพนักงานให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานมากขึ้นและสามารถทำงานแทนกันได้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุ้กกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา